“Inbound Marketing” หลายคนเกิดคำถามขึ้นว่าคืออะไร? และเกี่ยวกับการตลาดอย่างไร? แต่ก่อนที่เราจะไขปัญหาคาใจในเรื่องนั้น เราจะมาเรียนรู้คำศัพท์อีกหนึ่งคำเสียก่อน นั่นก็คือคำว่า “Outbound Marketing” ที่ใครหลายคนอาจคุ้นหู แต่อีกหลาย ๆ คนอาจจะไม่เลย ในวันนี้เรามีคำตอบว่าการตลาดแบบ Outbound มีหน้าตาเป็นอย่างไร และแท้ที่จริงแล้ว “Inbound Marketing” คืออะไรกันแน่
ที่มาของ “Inbound Marketing” คือภาคต่อของการตลาดแบบ “Outbound”
ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อนที่มนุษย์เรายังไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีสมาร์ทโฟน แต่สิ่งเดียวที่มีคือ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการตลาดแบบ “Outbound” ซึ่งเน้นการโปรโมทผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางที่ผู้คนสามารถเห็นผ่านตาได้ในจำนวนเยอะและง่าย “Outbound Marketing” จึงเป็นการตลาดเชิงรุกที่ไม่เจาะกลุ่มเป้าหมาย กวาดต้อนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพบคนที่เป็นลูกค้าที่แท้จริง
แต่เมื่อมีตัวเลือกทางเทคโนโลยีที่มากขึ้น ผู้คนสามารถเชื่อมกันด้วยสิ่งอื่น ๆ ที่มากกว่าทีวี วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ การตลาดประเภทนี้จึงลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ เพราะเปลืองทั้งงบประมาณ เปลืองทั้งเวลา แถมยังทำให้ลูกค้าเกิดความรำคาญในการเสนอขายมากเกินความจำเป็นอีกด้วย
ในขณะเดียวกันนั้นการตลาดแบบ “Inbound” จึงถือกำเนิดขึ้นมา เป็นภาคต่อของการตลาดแบบแรกที่กำลังจะอวสานลงไป โดยการตลาดแบบ “Inbound Marketing” คือ การตลาดที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาหาแบรนด์ด้วยตัวเอง ดยเราไม่จำเป็นต้องเสนอการขาย ซึ่งเราสามารถอธิบายการทำงานหลัก ๆ ของการตลาดประเภทนี้ได้ ดังนี้
1. ดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจตรงกัน ให้เข้ามาหาแบรนด์
การตลาดแบบ Inbound เปรียบเสมือนเราตั้งสเปคในการหาคู่เดทบทแอปพลิเคชัน หากเจอคนตรงสเปคที่คุณระบุเอาไว้ ระบบจะจับให้คุณได้เจอกับคู่เดทตรงใจทันที เช่นเดียวกันกับการทำงานของ “Inbound Marketing” เพราะแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์จะไม่ได้วิ่งเข้าหากลุ่มลูกค้า เพียงแต่รอให้พวกเขาวิ่งเข้าไปหาเท่านั้น เมื่อความต้องการของลูกค้าและความต้องการขายของแบรนด์มา Matching กันตรงกลาง ทั้งลูกค้าและตัวสินค้าจึงเริ่มศึกษากันว่ามีดีและเสียอย่างไร
2. เปลี่ยนให้กลุ่มลูกค้านั้นเข้ามาศึกษาแบรนด์ด้วยตนเอง
เมื่อทำการ Matching จนมาเจอกันแล้ว ได้ทำการศึกษาดูสินค้าอย่างพอใจ ทางแบรนด์จะให้ประโยชน์กับลูกค้าอย่างเต็มที่ ไม่ได้เน้นแค่เพียงขายของ เปิดเผยรีวิวที่น่าเชื่อถือทั้งดีและร้ายให้ได้ทราบ หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจโดยส่วนตัวล้วน ๆ ว่าลูกค้ายังต้องการที่จะคบหากับแบรนด์หรือสินค้านั้นต่อไปหรือไม่ เพราะแบรนด์จะให้อิสระในการศึกษาแบรนด์ด้วยตัวเองอย่างเต็มที่
3. สร้างฐานแฟนคลับจากการตอบโต้-พูดคุย
ยิ่งไปกว่านั้นการตลาดแบบ “Inbound Marketing” ยังทำให้ลูกค้าได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับแบรนด์มากขึ้นด้วยการพูดคุย มีบริการให้ติดต่อสอบถามได้แบบ Real-time ไม่ว่าจะเป็นทางไลน์ เเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ ทำให้ลูกค้าจะไม่รู้สึกห่างไกลกับแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้อีกต่อไป เพราะแบรนด์พร้อมที่จะเข้าหาลูกค้า รองรับความต้องการของทุกคน ยังพูดคุยอย่างเป็นกันเองกว่า และถ้าหากมีปัญหาใดข้องใจก็พร้อมที่จะรับฟัง แก้ไขให้อย่างไม่เกี่ยงงอน
4. มีกลุ่มแฟนคลับที่เหนียวแน่น พร้อมเป็นปากเป็นเสียงให้แบรนด์
เมื่อมีการดูแลเทคแคร์จนเกิดกลุ่มแฟนคลับของแบรนด์ที่เหนียวแน่นแล้ว แบรนด์ไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยการโปรโมทตัวเองอีกต่อไป เพราะมีคนกลุ่มนี้คอยเป็นปากเป็นเสียงให้แล้วเรียบร้อย ดีไม่ดีคนกลุ่มนี้ยังคอยปกป้องหากมีเรื่องร้าย ๆ มาทำลายแบรนด์หรือสินค้าให้เสื่อมเสียชื่อเสียงด้วย เรียกได้ว่าระบบ “Inbound Marketing” ก็คล้ายกับแฟนคลับและศิลปิน ที่พอเมื่อได้ลองรักแล้วก็จะรักเลยไม่มีเปลี่ยนใจนั่นเอง
ข้อดี-ข้อเสียของการทำตลาดแบบ “Inbound Marketing” ที่นักการตลาดควรรู้
ได้รู้จักการทำงานการตลาด “Inbound” กันไปอย่างพอสังเขปแล้ว ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการทำการตลาดประเภทนี้จะได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม แต่ใครเลยจะรู้ว่าเบื้องหลังของความสำเร็จเหล่านั้นย่อมมีหยาดเหงื่อแห่งความพยายามซ่อนอยู่ และนี่คือข้อดี-ข้อเสียของการทำการตลาดแบบแรงดึงดูด มีอะไรบ้างมาดูกัน
เริ่มต้นที่ข้อเสียที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ
- ใช้ระยะเวลานาน
การตลาดประเภทนี้จะไม่ใช่เกมเสี่ยงดวงชี้เป็นชี้ตายแบบ Outbound ถ้าที่หากได้ก็คือได้ ไม่ได้ก็ออกหากันใหม่ แต่เนื่องจาก “Inbound” เป็นการตลาดแบบดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องใช้เวลานการฟูมฟัก และทำให้คนรู้จักเสียก่อน ผลกำไรจึงจะตามมา - คู่แข่งเยอะ
อย่างที่ทราบกันดีว่าตอนนี้การสร้างแบรนด์มีอัตราการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี การทำการตลาดด้วยวิธีนี้จึงแพร่หลายไปทั่วโลก และแม้มีกลุ่มเป้าหมายก็ต้องแข่งกับแบรนด์อื่นที่เป็นประเภทเดียวกัน ซึ่งถ้าหากอยากโดดเด่นและเป็นที่จดจำก็จะนำกลับไปสู่ข้อแรกคือ “ต้องใช้ระยะเวลาพิสูนจ์” อยู่ดี
ข้อดีที่คุ้มค่า ที่รอต้อนรับคนที่ลงมือทำทันที
- ได้ฐานลูกค้าที่มั่นคง
หากคุณสามารถทำให้แบรนด์ของคุณอยู่มาจนติดตลาดได้แล้ว กลุ่มลูกค้าของคุณจะเหนียวแน่นมั่นคงไปอย่างนั้นไม่มีเปลี่ยน เพราะเชื่อใจในมาตรฐาน และชื่นชอบไลฟ์สไตล์ในแบรนด์ที่ตรงกับความต้องการของพวกเขาจริง ๆ - แบรนด์จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
การตลาดแบบ “Inbound Marketing” จะมีแต่ช่วยส่งเสริมฐานลูกค้าของคุณให้ขยายแผ่อาณาเขตออกไป และเมื่อแบรนด์มีอายุเก่าแก่มากเท่าไหร่ การเติบโตของแบรนด์ก็จะก้าวกระโดดไปด้วยมากเท่านั้น - แก้ไขข้อบกพร่องของแบรนด์ได้อย่างถูกจุด
เพราะมีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูกค้ามาโดยตรง จึงทำให้แบรนด์ได้เห็นข้อเสียและจุดอ่อนของสินค้าตัวเองได้อย่างตรงเป้า สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที เสริมความแข็งแรงของสินค้าให้แข่งขันในตลาดใหญ่ได้
และทั้งหมดนี้คือข้อมูลพื้นฐานที่จะช่วยทำให้หลายคนคงจะรู้จักคำว่า “Inbound Marketing” เพิ่มมากขึ้น แถมยังรู้ถึงข้อดี-ข้อเสียของการตลาดประเภทนี้เอาไว้ให้ได้ศึกษาก่อนลงมือทำกันด้วย ดังนั้นอย่ามัวลังเลไม่มั่นใจ เพราะแบรนด์ดังที่จะขึ้นมาเฉิดฉายเป็นแบรนด์ต่อไป อาจเป็นแบรนด์ของคุณแล้วตอนนี้
บทความนี้จ้างเขียนผ่าน ฟรีแลนซ์ บน Fastwork.co